Dropdown เมนู บทความ


คลิกที่แถบหัวข้อ เพื่อดูคำอธิบาย

     พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 เกิดจากการผลักดันของผู้แทนชุมชนที่ต้องการมีกฎหมายที่จะรองรับสถานะ และให้การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เมื่อต้นปี 2544 จึงได้มีการนำเสนอของตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ร่วมกับมูลนิธิหมู่บ้าน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณายกร่าง “ พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชน พ.ศ.......” ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนชุมชน ผู้แทนจากมูลนิธิหมู่บ้าน และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อทำการพิจารณายกร่างแล้ว ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ........”ซึ่งคณะกรรมการได้ดำเนินการพิจารณายกร่างแล้วเสร็จเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2544 หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจพิจารณารายละเอียดตามขั้นตอนของกฎหมาย และคณะรัฐมนตรีได้นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 และนายกรัฐมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2548 มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2548 เป็นต้นไป

เพื่อให้มีการส่งเสริมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างรายได้ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การพัฒนาความสามารถในการจัดการ และการพัฒนารูปแบบของวิสาหกิจชุมชน มีผลให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้และพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พร้อมสำหรับการแข่งขันทางการค้าในอนาคตไม่ว่าในระดับใด รวมถึงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบกิจการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก่
1. ให้มีการจดทะเบียนรับรองสถานะของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่จะขอรับการส่งเสริมตามพระราชบัญญัตินี้ โดยยื่นขอจดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
2. ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเป็นเอกภาพ โดยกำหนดให้มี

  • คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน จำนวน 28 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ กรรมการจากส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐมนตรีจาก 5 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีจาก 4 กรม คือ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการส่งออก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และกรมสรรพากร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน รวมทั้ง กรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน จำนวน 10 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน แต่งตั้งผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการพัฒนาชุมชน หน่วยงานละ 1 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
  • คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด ผู้แทนกรมสรรพากรที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในจังหวัด ผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสินที่มีสาขาตั้งอยู่ในจังหวัด หน่วยงานละ 1 คน ผู้แทนวิสาหกิจชุมชน จำนวน 6 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ โดยมีเกษตรจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ
  • คณะกรรมการประสานนโยบายกองทุนเพื่อพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน12 คน เป็นกรรมการ
3. ให้คณะกรรมการจัดให้มีมาตรการในการส่งเสริม สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร
  • วิสาหกิจชุมชนระดับปฐมภูมิ : ให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชนระดับปฐมภูมิในการประกอบกิจการอย่างครบวงจร รวมถึงการให้ความรู้ การจัดตั้ง การร่วมมือซึ่งกันและกัน การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำวัตถุดิบ ทรัพยากร หรือภูมิปัญญาของชุมชน มาใช้ให้เหมาะสมกับกิจการวิสาหกิจชุมชน และสภาพท้องถิ่นนั้น ๆ หรือการให้ความรู้เกี่ยวกับขบวนการผลิตและการบริหารจัดการธุรกิจทุกด้าน เพื่อให้กิจการวิสาหกิจชุมชนในระดับปฐมภูมิมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้
  • วิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้แล้ว : ให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้แล้วจากระดับปฐมภูมิอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความรู้และการสนับสนุนในการประกอบกิจการวิสาหกิจชุมชนในระดับที่สูงขึ้นตามความพร้อมและความต้องการของกิจการวิสาหกิจชุมชน การร่วมมือซึ่งกันและกัน หรือให้ความช่วยเหลือในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ทั้งในด้านคุณภาพ การผลิต การจัดการและการตลาด เพื่อสร้างความพร้อมให้แก่กิจการวิสาหกิจชุมชนในระดับที่สูงยิ่งขึ้น
  • เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการจัดตั้งเป็นองค์กรธุรกิจใดๆ : ให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งการประกอบการ การตลาด รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือภาคธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมอื่นเพื่อขยายและสร้างความมั่นคงให้แก่กิจการวิสาหกิจชุมชน
4. ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
5. ให้กรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการประสานนโยบายกองทุนเพื่อพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชน
6. ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัด

ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ

  1. การรวมตัวกันของคนในชุมชนในการประกอบการวิสาหกิจชุมชนมีความมั่นคง และได้รับการรับรองตามกฎหมาย
  2. การจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ทำให้เกิดการจัดระเบียบในการสนับสนุน ซึ่งภาครฐจะสามารถให้การสนับสนุนได้ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของชุมชน
  3. วิสาหกิจชุมชนที่ยื่นขอจดทะเบียนจะได้รับการพัฒนาเป็นผู้ประกอบการ มีการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากศักยภาพของทุนชุมชน ซึ่งได้แก่ ทรัพยากรในชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น
  4. ระบบเศรษฐกิจชุมชนจะมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ มีความพร้อมที่จะพัฒนาสำหรับการแข่งขันทางการค้าในอนาคต

กรมฯได้เตรียมความพร้อมแก่เจ้าหน้าที่ โดยการจัดประชุมชี้แจงและจัดฝึกอบรม ให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้มีความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ และวิธีการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ทั้งนี้ ได้กำหนดบทบาทให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) กระบวนการเปลี่ยนแปลง (Catalyst) และกระบวนการเครือข่าย (Net Worker)

เนื่องจากการเรียนรู้เป็นหัวใจของกระบวนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ดังนั้น กรมฯจึงได้เตรียมความพร้อมของชุมชน โดยจะกระตุ้นให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ เพื่อค้นพบศักยภาพของตนเอง ค้นพบทุนในชุมชน และพบแนวทางในการพัฒนาทุนที่มีอยู่ไปสู่การพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นเป้าหมายของวิสาหกิจชุมชน

ในการดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้ประสบผลสำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งหลายหน่วยงานอาจมีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานสนับสนุนชุมชนคล้ายคลึงกัน ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 มีความเป็นเอกภาพ และลดความซ้ำซ้อน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน และร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

กรมฯ ได้มีแนวทางการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ โดยได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรเอกชน ตลอดจนผู้นำชุมชน เพื่อดำเนินการจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนการพัฒนาและส่งเสริมกิจการวิสาหกิจชุมชนในภาพรวมทั้งประเทศ เป็นไปอย่างมีเอกภาพในลักษณะของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ซึ่งจะนำเสนอให้กับคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนพิจารณา โดยการดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในลักษณะบูรณาการ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ซึ่งกลไกในการดำเนินงานร่วมกันนั้นจะมีการกำหนดให้มีการชี้แจงและสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับผู้บริหารและระดับผู้ปฏิบัติ

คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดมีบทบาทในการให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ โดยอาศัยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ในการให้คำแนะนำตามศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน

วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนแล้วจะต้องประเมินศักยภาพตามเกณฑ์ประเมินที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อทราบถึงศักยภาพและความต้องการที่แท้จริงของวิสาหกิจชุมชน เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถกำหนดแผนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนได้ ส่วนการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน จะเป็นไปตามศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนนั้นๆ

ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเรื่องคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนที่ประสงค์ขอจดทะเบียน วิสาหกิจชุมชนที่ประสงค์จะมายื่นคำขอจดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตรต้องมีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

  1. เป็นกิจการที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือการอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชน
  2. เป็นกิจการที่ดำเนินการหรือประสงค์จะดำเนินการร่วมกันในชุมชน โดยคณะบุคคล ที่เป็นนิติบุคคลหรือไม่เป็นนิติบุคคล ประกอบด้วยสมาชิกที่อยู่ร่วมกันในชุมชนไม่น้อยกว่า 7 คน โดยบุคคลดังกล่าวต้องไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน
  3. เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้ เพื่อการพึ่งพาตนเองและเพื่อประโยชน์สุขของคนในชุมชน
  4. เป็นกิจการที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนจะต้องมีคำว่า “วิสาหกิจชุมชน” อยู่หน้าชื่อ

ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนว่าด้วยการรับจดทะเบียนและการเพิกถอนทะเบียนวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ประสงค์จะจดทะเบียน ต้องมีวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่ 2 วิสาหกิจชุมชนขึ้นไปมารวมตัวกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนั้น โดยการดำเนินงานของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอาจมีบุคคลภายนอกมาร่วมดำเนินการด้วยก็ได้ ซึ่งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ประสงค์จดทะเบียน ต้องมีข้อบังคับในการบริหารจัดการของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
ทั้งนี้ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนจะต้องมีคำว่า “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน” อยู่หน้าชื่อ

วิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ที่

  1. สำนักงานเกษตรอำเภอ / กิ่งอำเภอ / เขตในกรุงเทพมหานคร และหาก ท้องที่ใดในกรุงเทพมหานครไม่มีสำนักงานเกษตรเขตให้ยื่นขอจดทะเบียนกับสำนักงานเกษตรเขตใกล้เคียง
  2. ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล / แขวงใน กรุงเทพมหานคร
  3. สถานที่อื่นตามที่อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งเป็นผู้รักษาการตาม ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนว่าด้วยการรับจดทะเบียนและการเพิกถอนทะเบียนวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 ประกาศกำหนด

หลักฐานที่จะใช้ประกอบคำขอยื่นจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน มีดังนี้
1. กรณีเป็นนิติบุคคล

  • สำเนาเอกสารแสดงวัตถุประสงค์ ระเบียบ หรือข้อบังคับ
  • สำเนามติของคณะกรรมการดำเนินการหรือมติของที่ประชุมใหญ่ให้จดทะเบียน
  • ทะเบียนรายชื่อสมาชิกและที่อยู่ของสมาชิก
  • สำเนาข้อบังคับของเครือข่าย (กรณีจดทะเบียนเป็นเครือข่าย)
2. กรณีไม่เป็นนิติบุคคล
  • หนังสือให้ความยินยอมของสมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด หรือสำเนามติที่ประชุมซึ่งมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมาจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนแทน
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจทำการแทน
  • รายชื่อและที่อยู่พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของสมาชิก
  • สำเนาข้อบังคับของเครือข่าย (กรณีจดทะเบียนเป็นเครือข่าย)

สามารถจดทะเบียนได้ตั้งแต่ วันที่ 15 สิงหาคม 2548 เป็นต้นไป

ผู้ที่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนจะต้องเป็นผู้ที่มีบัตรประจำตัวประชาชน คือ อายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป เนื่องจากในการยื่นขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จะต้องแนบรายชื่อสมาชิกพร้อมทั้งหลักฐานคือบัตรประจำตัวประชาชน

ได้ เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดข้อห้ามว่าผู้ที่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนใดแล้วจะต้องไม่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนอื่นได้อีกไว้ในประกาศคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนว่าด้วยการรับจดทะเบียนและการเพิกถอนทะเบียนวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 หรือประกาศคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเรื่องคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนที่ประสงค์ขอจดทะเบียน ดังนั้น บุคคลหนึ่งบุคคลใดจึงสามารถเป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนได้มากกว่าหนึ่งแห่ง

ได้ เพราะเมื่อกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมาจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนจะสามารถกำหนดหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ที่แตกต่างจากกลุ่มแม่บ้าเกษตรกรเดิมได้

ได้ เนื่องจากบุคคลล้มละลายไม่ถือว่าเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของการเป็นสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนที่ประสงค์จะจดทะเบียน แต่มีข้อพึงระวังคือบุคคลล้มละลายนั้นถูกจำกัดสิทธิ์ในการจัดการทรัพย์สินของตน โดยอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจของพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ดงนั้น จึงไม่ควรให้บุคคลล้มละลายเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนวิสาหกิจชุมชน เพราะหากมีการส่งเสริมหรือสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนที่จะต้องมีการทำนิติกรรมสัญญา อาจทำให้เกิดปัญหาได้

วิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนจะได้รับประโยชน์ ดังนี้

  1. วิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนจะได้รับการรับรอง สถานะในการรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมาย
  2. สามารถขอรับการส่งเสริมหรือสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจ ชุมชน
  3. มีสิทธิได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนตามมาตรการที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกำหนด


Share: