วัดพระธาตุหนองบัว อำเภอเมืองอุบลราชธานี
วัดพระธาตุหนองบัว
จังหวัดอุบลราชธานี
วัดหนองบัว เป็นวัดราษฎร์ นิกายธรรมยุต
อยู่อำเภอเมืองอุบลราชธานี ห่างจากศาลากลางจังหวัด ไปทางด้านทิศเหนือประมาณ 3
กิโลเมตร บนถนนธรรมวิถี แยกจากถนนชยางกูร ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 500 เมตร
สร้างเมื่อปี พ.ศ.2498 มีพื้นที่ทั้งหมด 50 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวา
เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง ของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ
คือพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25
ศตวรรษของพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2500
พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์นั้น ได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา
ประเทศอินเดีย เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้ว
ซึ่งทั้ง 4 มุม ของกำแพงแก้ว ได้ประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็กอีก 4 องค์
ภายในองค์พระธาตุมีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน พระธาตุองค์เดิมมีขนาดกว้างด้านละ 5
เมตร สูงประมาณ 17 เมตร เมื่อสร้างใหม่ครอบองค์เดิม
คือพระบรมธาตุที่เห็นในปัจจุบัน มีขนาดใหญ่มาก ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร
สูง 56 เมตร เสร็จสมบูรณ์ในปี 2512 ด้านหลังของพระบรมธาตุ
เป็นที่ตั้งของศาลาการเปรียญ ซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณี
กลุ่มของฆราวาสจะรวมกันอยู่ด้านหลัง
ซึ่งเป็นกุฏิที่สร้างอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่งเป็นป่าโปร่ง ส่วนกุฏิของแม่ชี
จะแยกพื้นที่ไปอย่นอกวัด
มูลเหตุการสร้างวัด
มูลเหตุการสร้างวัดหนองบัว เริ่มต้นจากกลุ่มพุทธศาสนิกชน
ผู้ยึดมั่นในการปฏิบัติธรรมกลุ่มหนึ่ง มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ในการสร้างวัดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
และเป็นที่ระลึกเนื่องในวาระมงคลกึ่งพุทธกาล พุทธศตวรรษ 2500 กำหนดแผนการสร้างวัด
เริ่มแรกในที่ดินของ นายฟอง สิทธิธรรม
ซึ่งในขณะนั้นถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี
ด้วยข้อหาว่าเป็นขบถภายใน
ผู้ทำหน้าที่ขอที่ดินสร้างวัด ประกอบด้วย
นายทองพูน ยุวมิตร พ่อค้าทำหน้าที่หัวหน้าคณะ
นายอุ่น ไวยหงษ์ ทำหน้าที่รองหัวหน้าคณะ
นายดำ ถิรกิจ
นายเฮ็ง ปัญญา
นายอัมพร พรหมรักษ์
นายคำโพธิ์ ยุวมิตร
คณะกรรมการสร้างวัด
กลุ่มผู้ริเริ่มสร้างวัด ได้กำหนดประชุมในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2498 ณ
อุโบสถวัดสุทัศนาราม ได้กำหนดให้คณะกรรมการสร้างวัด ประกอบด้วย
นายทองพูน ยุวมิตร
นายอุ่น ไวยหงษ์
นายพุทธา จันทร์ประไพ
นายคำ ถิรกิจ
นายเฮ็ง ปัญญา
นายทรัพย์ ชาญเฉลิม
นายอุบล ทวีศักดิ์
นายมั่นคุ้มเดช
นายอัมพร พรหมรักษ์
นายคำโพธิ์ ยุวมิตร
ฐานสร้างพระธาตุที่วัดหนองบัว
ให้เป็นอนุสรณ์สถานกึ่งพุทธกาลในจังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมการสร้างพระธาตุ
ได้กำหนดงานพิธีวางศิลาฤกษ์และฝังลูกนิมิตรพระธาตุ ในระหว่างวันที่ 18 เมษายน 2499
ถึงวันที่ 20 เมษายน 2499 รายชื่อผู้วางศิลามงคล ประกอบด้วย
นายทองพูน ยุวมิตร ศูนย์กลาง
นายฟอง สิทธิธรรม วางทิศอุดร
นายอุ่น ไวยหงษ์ วางทิศทักษิณ
นายคำโพธิ์ ยุวมิตร วางทิศบูรพา
นายสมพร เทศธรรม วางทิศประจิม
นายสงค์ ศรีจันทร์ วางทิศพายัพ
นายคำ ถิรกิจ วางทิศอาคเนย์
นายประมวล ยุวมิตร วางทิศหรดี
นายอุบล ทวีศักดิ์ วางทิศอีสาน
โดยมีพระครูญาณวิศิษฐ์
(อาจารย์สิงห์) เจ้าอาวาสวัดใต้ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ อัญเชิญขึ้นส่วนพระธาตุพนม
เลี่ยมทอง และศิลามงคลลงศูนย์กลาง ส่วนศิลาฤกษ์บรรจุในวันที่ 3 พฤษภาคม 2499
โดยมีเจ้าคุณศรีธรรมวงศาจารย์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสนิท วิไลจิต
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
งานก่อสร้างพระธาตุแล้วเสร็จเกือบสมบูรณ์ในปลายปี 2501 (สิงหาคม 2501)
ผู้ที่เป็นช่างดำเนินการมาโดยตลอด คือ พระเหมโก เฮ็ง ปัญญา (นายเฮ็ง ปัญญา)
และพระฐานิโย พรหมมา ธรรมารักษ์
ลักษณะพระธาตุ เป็นสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 6 เมตร พระเหมโก เฮ็ง ปัญญา
ได้สร้างฉัตรเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2501 ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 ปีจอ
พระเทพบัณฑิต เจ้าคณะธรรมยุติจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน ต่อจากนั้น นายหนู
วิริยภาพ ได้ดำเนินการแกะสลักพระประจำวันเกิด
และกลีบบัวประดับตามองค์ธาตุแต่ละด้าน ส่วนฐานชั้นล่าง
แกะเป็นรูปพระพุทธปางประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน
อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานในพระธาตุ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ทรงมีความปิติยินดีกับความสามัคคีของชาวอุบล ในการสร้างพระธาตุไว้สักการะบูชาอย่างยิ่ง
จึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงเทพมหานคร มารถไฟอุบลราชธานี
จนถึงวัดหนองบัว ในวันที่ 20 มีนาคม 2502 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ 21 มีนาคม 2502 เป็นวันมหามงคลยิ่งของชาวอุบลฯ ที่พระบรมสารีริกธาตุ
ได้บรรจุในพระธาตุอย่างสมบูรณ์ โดยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์
เป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐ์ฐานยังองค์พระบรมธาตุ
เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้มีบันทึกกราบถวายองค์พระบรมธาตุว่า วันที่ 21 มีนาคม
2502 พวกเกล้าชาวจังหวัดอุบลราชธานี ได้พร้อมใจกันสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ขึ้น
ที่ข้างหนองบัวหลวง กิโลเมตรที่ 3 จ.อุบลราชธานี
เพื่อเป็นพุทธบูชาและเพื่อความเจริญของพระพุทธศาสนา ในโอกาสพุทธศตวรรษที่ 25 นี้
และพวกเกล้า มีความปิติซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธเจ้า
ซึ่งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุในพระบรมเจดีย์ให้พวกเกล้า พระคุณอันนี้
อยู่ในความรำลึกของชาวอุบลราชธานีโดยถ้วนหน้าตลอดกาลนาน
และโอกาสนี้ ชาวอุบลราชธานีทั้งมวล
ขอตั้งสัจจะอธิษฐานผลกุศลอันเกิดจาดการสร้างพระบรมธาตุนี้ และขอศีล ทาน ภาวนา
อันพวกเกล้าชาวอุบล ได้กระทำแล้วทั้งมวล จงบังเกิดฤทธินุภาพวินัยคุ้มครองพระองค์เจ้า
องค์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จงทรงพระเกษมสำราญ พร้อมศิษยานุศิษย์
เพื่อบริหารกิจของพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เพื่อความสุขแก่ชาวโลกถ้วนหน้า
กาลนานเทอญ
การสร้างพระธาตุองค์ใหญ่
การสร้างพระบรมธาตุองค์ใหญ่ เป็นความคิดสืบมาจากการสร้างพระธาตุองค์เล็ก
นายทองพูน ยุวมิตร เป็นประธาน กรรมการก่อสร้าง นายเฮ็ง ปัญญา
เป็นนายช่างควบคุมการดูแลก่อสร้าง นายคำโพธิ์ ยุวมิตร มีหน้าที่ซื้อวัสดุก่อสร้าง
และนายสอน ศรีเอก เป็นกรรมการ
คณะสงฆ์ กรรมการฝ่ายสงฆ์ประกอบด้วย ท่านเจ้าคุณ พระราชธรรมสุเมธี
เจ้าคณะจังหวัดวัดสุปัฎนารามวรวิหาร เป็นประธานกรรมการ พระครูวิจิตร ธรรมภาณี
เป็นรองประธานกรรมการ ประกอบด้วย
พระครูสังวรศีลขันธ์ วัดสุทัศน์ กรรมการ
พระครูประจักษ์อุบลคุณ วัดเลียบ กรรมการ
พระครูวินัยธร วัดสุทัศน์ กรรมการ
พระปลัดพรหมมาฐานิโย วัดหนองบัว กรรมการ
พระทอน วัดสุทัศน์ กรรมการ
พระพา วัดหนองบัว กรรมการ
คณะกรรมการมีมติให้สร้างพระบรมธาตุองค์ใหญ่ ครอบพระธาตุองค์เล็ก
เป็นปฐมฤกษ์ ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2505 การดำเนินการก่อสร้างพระบรมธาตุองค์ใหญ่
ประกอบกับปัญหาเรื่องค่าก่อสร้าง ได้ทำพิธีมอบถวายที่ดิน จำนวน 50 ไร่
ของคุณพ่อฟอง และคุณแม่จันมี สิทธิธรรม ผู้มอบ ถวายในวันที่ 24 ตุลาคม 2498
ท่ามกลางความชื่นชมโสมนัสของพระพุทธศาสนิกชน ประธานฝ่ายสงฆ์ได้แก่พระศาสนดิลก
เจ้าคณะธรรมยุต วัดสุปัฎนารามวรวิหาร คณะสงฆ์ประกอบด้วย พระศรีธรรมวงศาจารย์
พระสารธุลี เป็นต้น รวมพระสงฆ์ทั้งหมด 11 รูป ต่อมาในวันที่ 26 ตุลาคม 2498
นายทองพูน ยุวมิตร พร้อมคณะกรรมการวัดและพุทธสาสนิกชนทั้งหลาย
จึงได้ลงมือหักร้างถางพงบริเวณที่ดินเหนือหนองบัวใหญ่ เป็นปฐมฤกษ์
สิ่งสำคัญภายในวัดสมัยแรกสร้าง
สิ่งก่อสร้างสำคัญสมัยแรกสร้างวัด มีจำนวนไม่มากและไม่มั่นคงเท่าไรนัก
ประกอบด้วยศาลาโรงธรรมและกุฏิชั่วคราว 5 หลัง แต่ละหลังมุงหญ้า
กั้นฝาขัดแตะปูพื้นกระดาน เฉพาะศาลาโรงธรรมหลังคามุงด้วยสังกะสี พระประธานเป็นพระพุทธรูปสำริดสมัยเชียงแสนหน้าตักกว้าง
18 นิ้ว ได้มาจากวัดสุทัศนาราม ในคราวแห่พระพุทธสำริดจากวัดสุทัศนาราม
ไปประดิษฐานที่วัดหนองบัว ได้แห่พระหลวงพ่อสังกัจจายน์ ขนาดหน้าตักกว้าง 12 นิ้ว
ไปด้วยอีกองค์หนึ่ง พระสังกัจจายน์องค์นี้ สร้างด้วยดินประทาย คือมีส่วนประกอบด้วย
ทราย น้ำอ้อย และยางบง ตามตำราโบราณ
พระเจดีย์พุทธคยาจำลอง
มูลเหตุการสร้างพระพุทธคยาจำลอง
เป็นไปในทำนองเดียวกันกับการสร้างวัดหนองบัว นายทองพูน ยุวมิตร ผู้เริ่มก่อสร้าง
ได้ชักชวนนายเฮ็ง ปัญญา และนายคำโพธิ์ ยุวมิตร
ไปศึกษาดูงานด้านการสร้างศิลปของพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ก่อนที่จะลงมือขุดวางราก
ในระยะแรกๆ ต่อมา ในปี พ.ศ.2507, 2508, 2510
และปี พ.ศ.2513 คณะกฐินสามัคคีของคณะข้าราชการกรมป่าไม้ และพ่อค้าไม้
โดยการนำของนายอุทัย-นางปราณี ใจประสาท จึงได้จัดมหากฐินนำเงินเข้าวัดหนองบัว
จนสามารถสร้างพระบรมธาตุองคใหญ่ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์
ยกฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุองค์ใหญ่
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2530 ทางทายกทายิกา
ได้ไปกราบอาราธนาขอพระครูกิติวัณโณบล
ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี
มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัว จึงมาดำริจัดสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ขึ้น
จึงได้ปรึกษาหารือกับคณะสงฆ์และทายกทายิกา พ่อค้า ประชาชน และข้าราชการ
มีความเห็นพร้อมกันทุกฝ่าย ให้จัดทำฉัตรทองคำได้ จึงดำเนินการหล่อฉัตร 5 ชั้นขึ้น
ลงรักปิดทอง ส่วนสนยอดฉัตรที่เป็นรูปดอกบัวตูมนั้น เป็นเนื้อทองคำแท้หนัก 31 บาท
ตาม พ.ศ.ที่จะยก และเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนม์มายุครบ 5 รอบ
ทั้งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครองราชสมบัติยาวนานกว่าในจักรีวงศ์
ซึ่งเป็นวันชัยมงคลาภิเษกด้วย
เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชาวอุบลราชธานี และสาธุชนทั่วไป
จึงได้ดำเนินการจัดการงานนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ขึ้น
พร้อมกับยกฉัตรทองคำ ในวันที่ 5 มีนาคม 2531 โดยมีประธานฝ่ายสงฆ์คือ
พระเดชพระคุณเจ้าคุณพระพรหมมณี พร้อมด้วยคณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานี
ประธานฝ่ายฆราวาส มี ฯพณฯ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายไชยศิริ
เรืองกาญจนเศรษฐ์ พร้อมด้วย ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุขุม
เลาวัณศิริ ผู้ว่าราชการังหวัดอุบลราชธานี เรือตรีดนัย เกตุศิริ
และผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีมหาดไทย นายวีระวร สิทธธรรม พร้อมด้วยข้าราชการ
พ่อค้า ประชาชน พร้อมกันทำพิธียกฉัตรทองคำ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ขึ้น ในเวลา
09.59 น.