แก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร

แก่งสะพือ

แก่งสะพือ เป็นแก่งหินที่สวยงามในแม่น้ำมูล ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี ตามทางหลวงหมายเลข 217 ประมาณ 45 กิโลเมตร คำว่า สะพือ เพี้ยนมาจากคำว่า ซำฟืด หรือ ซำปึ้ด ซึ่งเป็นภาษาส่วยแปลว่า งูใหญ่ หรืองูเหลือม เป็นแก่งที่มีหินน้อยใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านกระทบหิน เกิดเป็นฟองขาวมีเสียงดังตลอดเวลา


 ช่วงที่เหมาะสำหรับเที่ยวชมแก่งสะพือ คือหน้าแล้ง ราวเดือนมกราคม-พฤษภาคม เพราะน้ำจะลดเห็นแก่งหินชัดเจนสวยงาม ส่วนหน้าฝนน้ำจะท่วมมองไม่เห็นแก่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาชมแก่งนี้ 2 ครั้ง ริมฝั่งแม่น้ำมีศาลาพักร้อน และร้านขายสินค้าพื้นเมือง ในวันหยุดมีประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนกันเป็นจำนวนมาก

    นอกจากนี้แล้วในเดือนเมษายนของทุกปี ช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการจัดงานประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและประเพณีอันดีงามด้วย

เดินทางสู่แก่งสะพือ
เดินทางสู่แก่งสะพือ เดินทางเที่ยวอุบล วันนี้แนะนำที่เที่ยวในอำเภอพิบูลมังสาหาร จากเมืองอุบลใช้เส้นทางมุ่งหน้าโขงเจียม ก่อนจะข้ามสะพานแม่น้ำมูล ลองใช้เส้นทางเลียบแม่น้ำมาเรื่อยๆ แล้วจะเห็นป้ายบอกทางไปแก่งสะพือ เลี้ยวเข้าไปนิดหน่อยเราก็จะเห็นถนนเล็กๆ มีร้านค้ามากมายหลายร้านนี่แหละถึงแล้ว ที่จอดรถของคนจะมาเที่ยวแก่งสะพือ

ศาลาชมวิว
ศาลาชมวิว เดินเข้ามาตามแนวร้านค้า เส้นทางนี้จะมาสุดที่ริมแม่น้ำมูล เป็นสวนสาธารณะริมน้ำ ประกอบด้วยศาลาชมวิวแห่งนี้ที่จะเป็นที่พักผ่อนรับลมเย็นๆ มองทิวทัศน์ของแก่งหินกลางน้ำ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นสวนที่ร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เหมาะสำหรับการปูเสื่อปิคนิค เพราะมีร้านอาหารหลายร้าน เมนูปลาแม่น้ำ เป็นอาหารแนะนำ

แก่งสะพือ
 หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของที่นี่ก็คือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นที่ลงเล่นน้ำของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงใช้เป็นที่ศึกษาหาความรู้ ในฤดูแล้งที่นี่จะเห็นแก่งหินจำนวนมากในยามน้ำมากมองไม่เห็นหินค่อนข้างอันตราย กลางแม่น้ำเราก็เลยเห็นแท่งปูนขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมน่าจะสร้างพร้อมๆ กับที่แก่งตะนะ สมัยการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเป็นโรงแรม

แก่งสะพือ
 อีกหน้าที่หนึ่งของที่นี่ก็คือเป็นแหล่งทำมาหากินคือการจับสัตว์น้ำ เพราะแก่งหินเหล่านี้นับเป็นที่อยู่ที่สงบที่สุดสำหรับฝูงปลาท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยวของแม่น้ำมูล และเมื่อมีปลามากก็ต้องมีผู้ล่ามากตามไปด้วย ปลาที่จับได้ส่วนหนึ่งก็จะมาอยู่ที่ร้านอาหารริมแก่งสะพือนี่เอง รอให้เราเข้าไปสั่งมากิน

แท่งปูนบอกร่องน้ำ
แท่งปูนบอกร่องน้ำ นี่ก็คือแท่งปูนที่บอกไปแล้วว่าน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสล่าอาณานิคมคงเหลือไว้เป็นอนุสรณ์

สัญลักษณ์การเสด็จพระราชดำเนินฯ
สัญลักษณ์การเสด็จพระราชดำเนินฯ สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นอยู่กลางลานกว้างๆ ตรงทางลงแก่งสะพือ จารึกเรื่องราวพระราชกรณียกิจอันยังความปลาบปลื้มปีติ มายังชาวพิบูลมังสาหาร การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร ชาวพิบูลมังสาหารจึงสร้างหินจารึกไว้ที่นี่ รอบๆ แผ่นหินทำที่คล้องกุญแจคู่ เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักของหนุ่มสาวตามความเชื่อแบบเกาหลีที่เข้ามาเป็นที่นิยมในไทยหลายแห่งด้วยกัน

วัดสระแก้ว
วัดสระแก้ว ทางลงไปแก่งสะพือเป็นกึ่งถนนกึ่งตลาดขายของอย่างที่เห็นในรูปก็เรียกกันว่าถนนสระแก้ว ที่นี่เป็นที่ตั้งของวัดที่ชื่อสระแก้วเหมือนชื่อถนน มองจากถนนลอดประตูวัดเข้ามาจะเห็นพระพุทธรูปปางนาคปรกองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ตรงกับประตูเข้าโบสถ์พอดีเลย

ศาลาพระเจ้า 5 พระองค์

ศาลาพระเจ้า 5 พระองค์ เป็นศาลาที่อยู่ด้านข้างของพระพุทธรูปปางนาคปรก ที่นี่ประดิษฐานพระพุทธรูป 5 องค์ด้วยกัน เรียกกันว่าพระเจ้า 5 พระองค์ ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์นั่นเอง ส่วนอีกองค์ที่อยู่ริมด้านข้างของศาลาคือพระพือ เดี๋ยวจะพาเข้าไปไหว้ขอพร ในฐานะที่มาเที่ยวแก่งสะพือ





Share: