วิหารไกรลาศ วิหารศักดิ์สิทธิ์ สร้างจากหินยักษ์ก้อนเดียว
วิหารไกรลาศ (Kailasa) ในเมือง เอลโลรา (Ellora) รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย เป็นงานศิลปะแกะจากหินก้อนเดียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ถ้ำในหมู่ถ้ำเอลโลรา ที่สร้างโดยเจาะเข้าไปในหน้าผาหินบะซอลต์ ช่างฝีมือระดับปรมาจารย์แกะสลักโครงสร้างขนาดยักษ์จากหินแข็งชิ้นเดียวในถ้ำบนไหล่เขา อาคารทั้งหมดใช้เวลามากกว่าสองทศวรรษในการแกะสลัก ผู้สร้างเป็นไปได้ว่าคือ พระเจ้ากฤษณาที่หนึ่ง (756-773) เสร็จสมบูรณ์ในศตวรรษที่ 8 โดยปรากฏลักษณะของสถาปัตยกรรมปัลลวะ และจาลุกยะ นอกจากประติมากรรมและงานแกะสลักที่วิจิตรแล้ว ยังพบร่องรอยของจิตกรรมฝาผนังที่งดงามหลงเหลือจาง ๆ ในบางส่วน
วิหารไกรลาศ (The Kailasa Temple) นั้นเป็นหนึ่งในโบราณสถานที่อยู่ในอาณาเขตของถ้ำ Ellora ซึ่งประกอบด้วยโบราณสถานอื่นๆ อีกหลายศาสนา ทั้งพุทธ ฮินดู เชน รวมทั้งหมดกว่า 32 แห่งในบริเวณเดียวกัน ซึ่งวิหารไกรลาศเองก็เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของที่นี่ ด้วยความที่การจะสร้างที่นี่ขึ้นมานั้นดูเป็นเรื่องยากมากๆ ต้องใช้แรงงาน และช่างแกะสลักจำนวนมหาศาล กว่าจะแกะสลักก้อนหินขนาดใหญ่ที่คาดกันว่าน่าจะหนักถึง 400,000 ตัน กว่าจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลาถึง 20 ปี โดยเริ่มแกะสลักจากด้านบนลงไปด้านล่างเรื่อยๆ จนได้ตัววิหารที่มีความสูง 18.29 เมตร กว้าง 60.69 เมตร นับเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ใกล้เคียงกับทัชมาฮาลเลยทีเดียว
ประมาณกันว่าวิหารนี้น่าจะสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 8 สมัยจักรวรรดิราษฏรกูฏ (Rashtrakuta) ราชวงศ์ที่เรืองอำนาจทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ซึ่งพระเจ้ากฤษณะที่ 1 แห่งราชวงศ์ราษฏรกูฏคือผู้ที่รับสั่งให้มีการสร้างวัดเพื่ออุทิศให้กับพระศิวะ เทพเจ้าผู้สูงส่งตามความเชื่อของชาวฮินดู โดยมีการผสมผสานศิลปะของวัฒนธรรมปัลลวะ (Pallava) และศิลปะจากราชวงศ์จาลุกยะ (Chalukya) เข้าด้วยกัน
และเนื่องจากวิหารแห่งนี้สร้างถวายแด่พระศิวะ รอบๆ จึงเต็มไปด้วยรูปปั้นของโคนนทิ โคเผือกที่เป็นพาหนะของพระองค์ ส่วนภาพแกะสลักโดยรอบเป็นการเล่าเรื่องราวความเชื่อตามศาสนาฮินดูอย่างละเอียด และบรรจงสวยงาม โดยที่สมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัยแต่อย่างใด นับเป็นการสร้างสรรค์จากแรงศรัทธาล้วนๆ